ในซีซั่นแรกของของซีรีส์สารคดี สัตว์มหัศจรรย์ (Animal) ทาง Netflix ได้เผยให้เห็นการใช้ชีวิตของเสือที่อยู่ร่วมกันเป็นฝูงด้วย ซึ่งปกติแล้วธรรมชาติของเสือเป็นสัตว์ที่ชอบหากินเพียงลำพัง รวมถึง เสือโคร่ง ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าป่า” ด้วย
แม้ว่าเสือโคร่งเป็นนักล่าที่อยู่ในระดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร และเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในป่า แต่ชีวิตของเสือโคร่งกลับถูกรุกรานโดยมนุษย์อย่างหนักจนทำให้ปริมาณลดลงอย่างมาก จากจำนวนนับแสนตัวเหลือเพียงไม่ถึง 4,000 ตัวทั่วโลกเท่านั้นในปัจจุบัน
นอกจากถูกรุกรานที่อยู่อาศัยจากการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว มนุษย์ยังล่าเสือโคร่งเพื่อนำอวัยวะต่าง ๆ ไปขาย หรือนำไปเป็นเครื่องประดับด้วย เพราะเป็นสัตว์ที่ขายได้ราคาสูง ขณะเดียวกันสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ทั้งเก้ง กวาง หมูป่า กระทิง วัวแดง ต่างก็ตกเป็นเหยื่อที่ถูกมนุษย์ตามล่าด้วยเช่นกัน ทำให้เสือโคร่งซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่และต้องการที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งอาหารและแหล่งน้ำที่เพียงพอ ประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารในการดำรงชีวิตจึงส่งผลต่อระบบนิเวศตามมา
ทั้งนี้ จากการจัดสถานภาพสัตว์ของ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) เสือโคร่งถูกจัดให้อยู่ในสถานะ “ใกล้สูญพันธุ์”
ปัจจุบันทั่วโลกมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ใน 13 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ อินโดนีเซีย อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ จีน และ รัสเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้มีผืนป่าที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การดำรงชีพของเสือโคร่ง
ประเทศไทยพบเสือโคร่งมากที่สุดในผืนป่าด้านตะวันตก ในพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติปางสีดาและอุทยานแห่งชาติทับลาน
นับตั้งแต่ไทยจัดทำ “แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง 2553–2565” เป็นเวลา 12 ปี จำนวนของเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนประชากรเสือโคร่งที่มีเพียง 42 ตัว เมื่อปี 2553 พบว่าปัจจุบันมีจำนวน 148-189 ตัว ซึ่งเป็นการประเมินจากหลักฐานภาพถ่าย รอยเท้า และร่องรอยต่าง ๆ ในการสำรวจป่าธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
เมื่อจำนวนของเสือโคร่งเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าสัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งย่อมมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย จึงเพียงพอต่อการยังชีพของเสือโคร่ง เพราะเสือโคร่ง 1 ตัว ต้องการเหยื่อเป็นอาหารประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อปี เทียบได้กับกวางดาว 50 ตัว
นอกจากนี้ปริมาณของเสือโคร่งที่เพิ่มมากขึ้น ยังเป็นนัยสำคัญที่บ่งบอกได้ว่าผืนป่าที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และมีพื้นที่ป่ามากขึ้น ซึ่งธรรมชาติของเสือโคร่งต้องการอาณาเขตและพื้นที่ครอบครองที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ โดยงานวิจัยของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่าเสือโคร่งเพศผู้ 1 ตัว มีขนาดพื้นที่อยู่อาศัยประมาณ 267-300 ตารางกิโลเมตร ส่วนเพศเมียมีขนาดพื้นที่อยู่อาศัยประมาณ 60-70 ตารางกิโลเมตร
แม้ว่าประสบความสำเร็จในการเพิ่มปริมาณเสือโคร่ง แต่ประเทศไทยยังเดินหน้าแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งต่อไปอีกจนถึงปี 2577 โดยมีเป้าหมายทำให้ประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยครองความเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับอาเซียนต่อไป