ซีรีส์สารคดี Midnight Asia: กิน เต้น ฝัน (Midnight Asia: Eat · Dance · Dream) จาก Netflix นำเสนอเรื่องราวของผู้คน อาชีพ สถานที่ยามค่ำคืนจากหลากหลายเมืองในเอเชีย ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับชีวิตคนกลางคืนแล้ว ยังทำให้เห็นบรรยากาศและวิวสวย ๆ ในยามค่ำคืนด้วย
หากใครอยากสัมผัสกับความสวยงามของกรุงเทพในมุมมองแปลกตาที่สวยไม่แพ้เมืองใหญ่อื่น ๆ ในเอเชีย แนะนำให้หาเวลาในช่วงค่ำตระเวนไปตามสถานที่หรือมุมต่าง ๆ เหล่านี้
สะพานพระราม 8 เป็นโครงการพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรที่ยาวเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งสายเคเบิลสีเหลืองทองจะเปล่งประกายสะท้อนกับแสงไฟอย่างสวยงามในยามค่ำคืน อีกทั้งบริเวณใต้สะพานฝั่งธนบุรีคือที่ตั้งของสวนหลวงพระราม 8 ที่มีผู้คนมารวมตัวทำกิจกรรมต่าง ๆ นับเป็นจุดที่ทั้งสวยงามและผ่อนคลายในที่เดียวกัน
วัดที่คนไทยรู้จักกันดีในนามวัดอรุณหรือวัดแจ้ง เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา มีพระปรางค์สวยงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ในช่วงกลางวันจะมองเห็นความงามของพระปรางค์สีขาวที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ถ้วยชามเบญจรงค์ และเปลือกหอย ขณะที่ช่วงค่ำภาพของพระปรางค์วัดอรุณที่ต้องแสงไฟ และสะท้อนเงาลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้บรรยากาศที่งดงามเกินคำบรรยาย หากอยากเก็บภาพประทับใจจะต้องไปถ่ายรูปจากฝั่งตรงข้าม บริเวณสวนสาธารณะใกล้ท่าเตียน ซึ่งช่วงที่มีการเฉลิมฉลอง และจุดพลุจะยิ่งสวยงามอลังการยิ่งขึ้น
สวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพฯ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นสวนขนาดใหญ่ที่ภายในมีลานกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สวนสุขภาพ สนามเด็กเล่น ลู่วิ่ง และทางจักรยาน จึงนับเป็นจุดรวมพลคนกรุงเทพฯ ที่สำคัญแห่งหนึ่ง นอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนแล้ว สวนเบญจกิติยังมีมุมถ่ายรูปยอดนิยมด้วย โดยเป็นมุมที่มองเห็นทั้งผืนน้ำและหมู่ตึกสูง ซึ่งในช่วงเวลาค่ำ ตามตึกต่าง ๆ จะทยอยเปิดไฟ เผยให้เห็นเสน่ห์ของเมืองใหญ่ยามค่ำคืน
ในอดีตเสาชิงช้าคือใจกลางเมืองกรุงเทพฯ หรือที่เรียกกันว่า “สะดือเมือง” สร้างตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีโล้ชิงช้าพระราชพิธีของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ด้วยลักษณะของเสาไม้ขนาดใหญ่สีแดง สูง 21.15 เมตร ทำให้เด่นสะดุดตาทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ที่มีแสงไฟจากอาคารเก่าและวัดวาอารามที่อยู่รายรอบช่วยส่งเสริม ทำให้เสาชิงช้าสีแดงสวยงามแปลกตา จนเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ ที่ต้องบันทึกเอาไว้
สะพานพระราม 8: นั่งรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสนามไชย ต่อรถโดยสารประจำทางสาย 3 หรือสาย 9 หน้ามิวเซียมสยาม ลงป้ายสำนักงานเขตพระนคร หรือนั่งรถโดยสารประจำทางสาย 123, 203, ปอ. 28, 64, ปอ.68
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร: นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาลงป้ายวัดอรุณ หรือนั่งรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสะพานตากสิน ต่อเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าสาทรไปขึ้นท่าเตียน จากนั้นนั่งเรือข้ามฟากไปวัดอรุณฯ
สวนเบญจกิติ: นั่งรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีอโศก หรือนั่งรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสุขุมวิทหรือศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้วเดินต่ออีก 400 เมตร
เสาชิงช้า: นั่งรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามยอด ออกประตู 3 เดินต่อไปเสาชิงช้าประมาณ 350 เมตร หรือนั่งรถประจำทางสาย 12, 30, 32, ปอ.3, ปอ.556