กรุงเทพฯ ยามค่ำคืนกับมุมถ่ายรูปสวย

ตามรอยวัฒนธรรม
Midnight Asia
กรุงเทพฯ ยามค่ำคืนกับมุมถ่ายรูปสวยๆ ที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาด

ซีรีส์สารคดี Midnight Asia: กิน เต้น ฝัน (Midnight Asia: Eat · Dance · Dream) จาก Netflix นำเสนอเรื่องราวของผู้คน อาชีพ สถานที่ยามค่ำคืนจากหลากหลายเมืองในเอเชีย ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับชีวิตคนกลางคืนแล้ว ยังทำให้เห็นบรรยากาศและวิวสวย ๆ ในยามค่ำคืนด้วย

หากใครอยากสัมผัสกับความสวยงามของกรุงเทพในมุมมองแปลกตาที่สวยไม่แพ้เมืองใหญ่อื่น ๆ ในเอเชีย แนะนำให้หาเวลาในช่วงค่ำตระเวนไปตามสถานที่หรือมุมต่าง ๆ เหล่านี้ 

Benchakitti Park
มุมถ่ายรูปกลางคืนสวย และบรรยากาศดีของกรุงเทพฯ
สะพานพระราม 8

สะพานพระราม 8 เป็นโครงการพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรที่ยาวเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งสายเคเบิลสีเหลืองทองจะเปล่งประกายสะท้อนกับแสงไฟอย่างสวยงามในยามค่ำคืน อีกทั้งบริเวณใต้สะพานฝั่งธนบุรีคือที่ตั้งของสวนหลวงพระราม 8 ที่มีผู้คนมารวมตัวทำกิจกรรมต่าง ๆ นับเป็นจุดที่ทั้งสวยงามและผ่อนคลายในที่เดียวกัน

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดที่คนไทยรู้จักกันดีในนามวัดอรุณหรือวัดแจ้ง เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา มีพระปรางค์สวยงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ในช่วงกลางวันจะมองเห็นความงามของพระปรางค์สีขาวที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ถ้วยชามเบญจรงค์ และเปลือกหอย ขณะที่ช่วงค่ำภาพของพระปรางค์วัดอรุณที่ต้องแสงไฟ และสะท้อนเงาลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้บรรยากาศที่งดงามเกินคำบรรยาย หากอยากเก็บภาพประทับใจจะต้องไปถ่ายรูปจากฝั่งตรงข้าม บริเวณสวนสาธารณะใกล้ท่าเตียน ซึ่งช่วงที่มีการเฉลิมฉลอง และจุดพลุจะยิ่งสวยงามอลังการยิ่งขึ้น

สวนเบญจกิติ

สวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพฯ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นสวนขนาดใหญ่ที่ภายในมีลานกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สวนสุขภาพ สนามเด็กเล่น ลู่วิ่ง และทางจักรยาน จึงนับเป็นจุดรวมพลคนกรุงเทพฯ ที่สำคัญแห่งหนึ่ง นอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนแล้ว สวนเบญจกิติยังมีมุมถ่ายรูปยอดนิยมด้วย โดยเป็นมุมที่มองเห็นทั้งผืนน้ำและหมู่ตึกสูง ซึ่งในช่วงเวลาค่ำ ตามตึกต่าง ๆ จะทยอยเปิดไฟ เผยให้เห็นเสน่ห์ของเมืองใหญ่ยามค่ำคืน 

เสาชิงช้า

ในอดีตเสาชิงช้าคือใจกลางเมืองกรุงเทพฯ หรือที่เรียกกันว่า “สะดือเมือง” สร้างตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีโล้ชิงช้าพระราชพิธีของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ด้วยลักษณะของเสาไม้ขนาดใหญ่สีแดง สูง 21.15 เมตร ทำให้เด่นสะดุดตาทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ที่มีแสงไฟจากอาคารเก่าและวัดวาอารามที่อยู่รายรอบช่วยส่งเสริม ทำให้เสาชิงช้าสีแดงสวยงามแปลกตา จนเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ ที่ต้องบันทึกเอาไว้ 

การเดินทาง

สะพานพระราม 8: นั่งรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสนามไชย ต่อรถโดยสารประจำทางสาย 3 หรือสาย 9 หน้ามิวเซียมสยาม ลงป้ายสำนักงานเขตพระนคร หรือนั่งรถโดยสารประจำทางสาย 123, 203, ปอ. 28, 64, ปอ.68

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร: นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาลงป้ายวัดอรุณ หรือนั่งรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสะพานตากสิน ต่อเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าสาทรไปขึ้นท่าเตียน จากนั้นนั่งเรือข้ามฟากไปวัดอรุณฯ

สวนเบญจกิติ: นั่งรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีอโศก หรือนั่งรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสุขุมวิทหรือศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้วเดินต่ออีก 400 เมตร

เสาชิงช้า: นั่งรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามยอด ออกประตู 3 เดินต่อไปเสาชิงช้าประมาณ 350 เมตร หรือนั่งรถประจำทางสาย 12, 30, 32, ปอ.3, ปอ.556

Privacy Preferences
When you visit our website, it may store information through your browser from specific services, usually in form of cookies. Here you can change your privacy preferences. Please note that blocking some types of cookies may impact your experience on our website and the services we offer.